วันศุกร์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2559

วิเคราะห์ จ.สมุทรสาคร อสังหาฯ 2559 เจาะลึกทำเลถนนพระราม 2





เจาะลึกทำเลถนนพระราม 2


สาครออนไลน์วิเคราะห์-เจาะลึกทำเลย่านถนนพระราม 2 จากกรุงเทพฯ ถึงตัวเมืองสมุทรสาครแบบรอบด้าน ทั้งการคมนาคม ระบบขนส่งมวลชน แหล่งจับจ่ายใช้สอย สถาบันการศึกษา โรงพยาบาล สถานีตำรวจ การวางผังเมือง และโครงการก่อสร้างในอนาคต เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจซื้อบ้านในย่านนี้
การคมนาคม – ถนนพระราม 2 เป็นเส้นทางคมนาคมจากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าสู่ภาคใต้ มีระยะทางตลอดสาย 84 กม. และเป็นจุดเริ่มต้นทางด่วนเฉลิมมหานคร มุ่งหน้าเข้าสู่ใจกลางเมือง มีความกว้างช่วงตั้งแต่ทางด่วนดาวคะนองถึงทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน 14 ช่องจราจร แบ่งออกเป็นช่องทางหลัก 4 ช่องจราจร และช่องทางขนาน 3 ช่องจราจร จากนั้นช่วงตั้งแต่ทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน ถึง จ.สมุทรสาคร มีความกว้าง 10 ช่องจราจร แบ่งออกเป็นช่องทางหลัก 3 ช่องจราจร และช่องทางขนาน 2 ช่องจราจร
ถนนพระราม 2 มีเส้นทางที่เชื่อมโยงไปยังจุดต่างๆ ได้แก่ ถนนกาญจนาภิเษก (วงแหวนรอบนอกตะวันตก) ไปยังถนนเพชรเกษม ถนนบรมราชชนนี และ อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี สามารถตรงไปออกทางแยกต่างระดับบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อมุ่งหน้าสู่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนทางพิเศษบางพลี-สุขสวัสดิ์ สามารถตรงไปออกถนนสุขุมวิท ถนนบางนา-บางปะกง มุ่งหน้าสู่ภาคตะวันออก และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งอยู่ห่างจากทางแยกต่างระดับบางขุนเทียนประมาณ 55 กม.
นอกจากนี้ ในส่วนของถนนกาญจนาภิเษก ยังมีเส้นทางซึ่งเป็นเครือข่ายถนนของกรมทางหลวงชนบท ได้แก่ ถนนกัลปพฤกษ์ (ตากสิน-เพชรเกษม-วงแหวนรอบนอก) มุ่งหน้าไปยังสะพานสาทร สู่ใจกลางธุรกิจย่านสาทรและสีลม, ถนนราชพฤกษ์ ที่มีเส้นทางขนานกับถนนกาญจนาภิเษก ผ่านถนนบรมราชชนนีไปยังปิ่นเกล้า ถนนนครอินทร์ไปยังสะพานพระราม 5 ถนนติวานนท์ จ.นนทบุรี ถนนรัตนาธิเบศร์มุ่งหน้าไปยังเขตบางเขน กรุงเทพฯ ถนนชัยพฤกษ์มุ่งหน้าไปยังปากเกร็ด ถนนแจ้งวัฒนะ และถนนสาย 345 มุ่งหน้าไปยัง จ.ปทุมธานีได้เช่นกัน

ระบบขนส่งมวลชน – ถนนพระราม 2 มีเส้นทางเดินรถประจำทางหลายสาย ส่วนใหญ่ให้บริการตั้งแต่ช่วงเช้ามืด มีดังต่อไปนี้
• ต้นทางการเคหะธนบุรี
– สาย 17 การเคหะธนบุรี-แจงร้อน-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ รถธรรมดาร่วมบริการขาว-น้ำเงิน (04.00-22.00 น.)
– สาย 85 พระราม 2-หัวลำโพง รถธรรมดาร่วมบริการขาว-น้ำเงิน (04.00-22.00 น.)
– สาย 142 การเคหะธนบุรี-ปากน้ำ รถปรับอากาศ ยูโรทู (03.45-21.30 น.)
– สาย 147 วงกลมเคหะธนบุรี-บางแค-ท่าพระ รถธรรมดาร่วมบริการสีชมพู รุ่นใหม่ (04.00-22.00 น.)
– สาย 171 การเคหะธนบุรี-หมู่บ้านนักกีฬา รถปรับอากาศร่วมบริการสีเหลือง รุ่นใหม่ (04.00-22.00 น.)
– สาย 558 การเคหะธนบุรี-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รถปรับอากาศร่วมบริการสีเหลือง รุ่นใหม่ (04.20-23.00 น.)
นอกจากนี้ ยังมีรถสองแถวให้บริการต้นทางการเคหะธนบุรี โดยสังเกตที่ข้อความด้านหน้ารถ หากเป็นสองแถวสีเหลืองจะมีป้ายบอกจุดหมายปลายทางต่างกัน ได้แก่ ท่าน้ำสมุทรสาคร, บางน้ำจืด, หมู่บ้านกานดาพาร์ค, ซอยวัดพันท้ายนรสิงห์ ส่วนรถสองแถวสีแดงจะไปวัดแสมดำ รถสองแถวสีฟ้าจะไปถนนบางขุนเทียน ฯลฯ
• ต้นทางอู่แสมดำ
– สาย 68 อู่แสมดำ-บางลำภู รถธรรมดาขาว-น้ำเงิน (04.15-23.00 น.)
– สาย 76 อู่แสมดำ-ประตูน้ำ รถปรับอากาศสีขาว รุ่นใหม่ (บริการตลอดคืน)
– สาย 140 อู่แสมดำ-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ รถปรับอากาศสีขาว รุ่นใหม่ (04.20-23.00 น.)
– สาย 141 อู่แสมดำ-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รถปรับอากาศสีขาวคาดน้ำเงิน
• ต้นทางมหาชัยเมืองใหม่
– สาย 105 มหาชัยเมืองใหม่-คลองสาน รถปรับอากาศสีขาวคาดน้ำเงิน (04.20-21.00 น.)
– สาย 105 ก. มหาชัยเมืองใหม่-วัดสน รถธรรมดาขาว-น้ำเงิน (04.20-21.00 น.)
• ต้นทางจังหวัดสมุทรสาคร
– สาย ปอ.68 สมุทรสาคร-บางลำภู รถปรับอากาศร่วมบริการสีเหลือง รุ่นใหม่ (04.00-22.00 น. เที่ยวสุดท้ายจากสมุทรสาคร 20.30 น.)
ในกรณีที่ต้องเดินทางตอนกลางคืน มีรถประจำทางเพียงสายเดียวที่ให้บริการตลอดคืน ได้แก่ สาย 76 การเคหะธนบุรี-ประตูน้ำ ซึ่งรถแท็กซี่จะมีให้บริการที่หน้าห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี พระราม 2 (ท่าข้าม) และป้ายรถเมล์หน้าเคหะธนบุรี (ฝั่งห้างสรรพสินค้าเทสโก้ โลตัส พระราม 2)
รถไฟฟ้า – ย่านถนนพระราม 2 ไม่มีรถไฟฟ้าบีทีเอส และรถไฟใต้ดินเข้าถึง ส่วนใหญ่ในชั่วโมงเร่งด่วนมักจะนิยมใช้บริการรถตู้ปรับอากาศ โดยเฉพาะสายอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งมีให้บริการจากท่ารถตู้บริเวณใต้ทางด่วนถึง 23.00 น. ทุกวัน นอกจากนี้ในรายที่ต้องต่อรถไฟฟ้าบีทีเอส มักจะใช้วิธีต่อรถประจำทางสาย 76 และ 105 เพื่อไปยังสถานีรถไฟฟ้าทีเอส วงเวียนใหญ่ บริเวณถนนกรุงธนบุรี หรือในรายที่ทำงานอยู่ย่านสุขุมวิทจะต่อรถประจำทางสาย 141 ไปลงที่หน้ากรมศุลกากร เพื่อต่อรถจักรยานยนต์รับจ้าง หรือตลาดคลองเตยซึ่งมีสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินอยู่
อย่างไรก็ตาม ฝั่งธนบุรีมีโครงการรถไฟฟ้าที่สำคัญ ได้แก่ รถไฟฟ้าบีทีเอส ส่วนต่อขยายสถานีวงเวียนใหญ่ ถึงสถานีบางหว้า ถนนเพชรเกษม ซึ่งหากก่อสร้างแล้วเสร็จ จะสามารถนั่งรถไฟสายมหาชัย-วงเวียนใหญ่ หรือต่อรถประจำทางสาย 68 และ ปอ.68 ไปยังสถานีรัชดาภิเษก-ราชพฤกษ์ ซึ่งอยู่ใกล้กับรถเมล์ด่วนพิเศษบีอาร์ที สถานีราชพฤกษ์ รวมไปถึงรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-หลักสอง และบางซื่อ-ท่าพระอีกด้วย
ส่วนทางรถไฟสายมหาชัย-วงเวียนใหญ่ อยู่ในโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงหัวลำโพง-บางบอน-มหาชัย ในอนาคต ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ในแผนโครงข่ายเพิ่มเติม ของแผนโครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน พ.ศ. 2553-2572 ระยะแรก 10 ปี (ให้บริการภายใน พ.ศ. 2562) และโครงการช่วงบางบอน-มหาชัย อยู่ในแผนการต่อขยายเส้นทางเดิม ของแผนโครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน พ.ศ. 2553-2572 ระยะ 20 ปี (ให้บริการภายใน พ.ศ. 2572)
คลิกที่นี่ เพื่ออ่านรายละเอียด โครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม
รถตู้ปรับอากาศ – มีรถตู้ปรับอากาศให้บริการในย่านถนนพระราม 2 ได้แก่
– การเคหะธนบุรี-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
– การเคหะธนบุรี-แยกบางนา
– การเคหะธนบุรี-มหาวิทยาลัยกรุงเทพ รังสิต
– ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพระราม 2-มหาวิทยาลัยรามคำแหง หัวหมาก
– ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพระราม 2-เซ็นทรัลพลาซ่า ปิ่นเกล้า
– ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพระราม 2-งามวงค์วาน
– ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพระราม 2-มาบุญครอง
– ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพระราม 2-เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว
– ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพระราม 2-บางแสน จ.ชลบุรี
– ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพระราม 2-เซ็นทรัล เฟสติวัล พัทยา บีช จ.ชลบุรี
– ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี พระราม 2-สมุทรสาคร
– ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี พระราม 2-นครปฐม
– รถตู้ บขส.กรุงเทพฯ-หัวหิน-ปราณบุรี (จุดขึ้นรถหน้าร้านหมูกะทะ หน้าบิ๊กซี พระราม 2)
รถไฟ – ย่านถนนพระราม 2 มีทางรถไฟสายวงเวียนใหญ่-มหาชัย ซึ่งมีทั้งขบวนรถธรรมดาและขบวนรถปรับอากาศ ให้บริการจากต้นทาง สถานีมหาชัย ถึงสถานีวงเวียนใหญ่ ตั้งแต่เวลา 04.10-19.00 น. และจากต้นทางสถานีวงเวียนใหญ่ ถึงสถานีมหาชัย ตั้งแต่เวลา 05.20-20.10 น. จุดลงรถไฟที่เชื่อมต่อถนนพระราม 2 และสามารถเดินเท้าได้ ได้แก่
– ที่หยุดรถบางบอน ไปตามถนนบางขุนเทียน ห่างจากถนนพระราม 2 ประมาณ 1.2 กม.
– ที่หยุดรถการเคหะธนบุรี ไปตามถนนพระราม 2 ซอย 62 แยก 2 ในเคหะชุมชนธนบุรี โครงการ 3 ห่างจากถนนพระราม 2 ประมาณ 1 กม.
– สถานีรางโพธิ์ ไปตามถนนพระราม 2 ซอย 82 (ฝั่งตรงข้ามคือถนนบางกระดี่) ห่างจากถนนพระราม 2 ประมาณ 800 เมตร
– ที่หยุดรถพรหมแดน ไปตามถนพระราม 2 ซอย 100 ฝั่งตรงข้ามคือวัดพหรมรังษี ห่างจากถนนพระราม 2 ประมาณ 1 กม.
อย่างไรก็ตาม ในปี 2554 เคยเกิดน้ำท่วมรางรถไฟตั้งแต่สถานีรางโพธิ์ถึงที่หยุดรถบางบอนมาแล้ว

ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซ่า พระราม 2
จับจ่ายใช้สอย – ย่านถนนพระราม 2 มีห้างสรรพสินค้าและคอมมูนิตี้มอลล์ให้บริการที่สำคัญ ย่านถนนท่าข้าม (กม.6) ได้แก่ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซ่า พระราม 2 ฝั่งขาเข้า, ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ พระราม 2 (ท่าข้าม) ฝั่งขาออก และแมคปาร์ค พระราม 2 ซึ่งมีร้านแมคโดนัลด์ให้บริการทั้งร้านแบบสแตนอะโลน และบริการไดร์ฟทรูตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งศูนย์บริการยาง แอค ของบริดจ์สโตน
ส่วนย่านการเคหะธนบุรี (กม.10) ประกอบด้วย ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ พระราม 2 สาขา 2 (การเคหะธนบุรี) ฝั่งขาเข้า และห้างสรรพสินค้าเทสโก้ โลตัส พระราม 2 ฝั่งขาออก นอกจากนี้ ในรายที่ต้องการซื้อของใช้ประจำวันยามค่ำคืน ย่านการเคหะธนบุรีจะมีคอนวิเนียนสโตร์อย่างเซเว่น อีเลฟเว่น และท็อปส์เดลี่ รวมทั้งเมื่อผ่านย่านวัดแสมดำจะมีปั้มน้ำมัน ปตท.จิฟฟี่ มักจะเป็นจุดนัดพบเวลาเดินทางมุ่งหน้าสู่ภาคใต้อยู่บ่อยครั้ง
เมื่อเข้าเขตจังหวัดสมุทรสาคร จะมีย่านชุมชนที่สำคัญ ได้แก่ ย่านวัดพันท้ายนรสิงห์ (กม.17) ซึ่งจะมีร้านเซเว่นอีเลฟเว่น และเป็นที่ตั้งของสาขาธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารออมสิน อีกย่านหนึ่งคือหมู่บ้านมหาชัยเมืองใหม่ (กม.21) ซึ่งจะมีตลาดสด ท่ารถประจำทาง ขสมก.ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น 2 จุด สาขาของธนาคารธนชาต (นครหลวงไทยเดิม) และธนาคารไทยพาณิชย์
ส่วนร้านจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์และวัสดุก่อสร้างที่สำคัญ ได้แก่ โฮมโปร พระราม 2 (กม.6), บุญถาวร พระราม 2 (กม.15) และร้านไทวัสดุ มหาชัย (กม.23) อย่างไรก็ตาม บนถนนพระราม 2 จะมีคอมมูนิตี้มอลล์อยู่ 2 จุด ได้แก่ โครงการพอร์โต้ชีโน่ (กม.25) ซึ่งจะมีแมกเนตที่สำคัญอย่างฟู้ดแลนด์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านแมคโดนัลด์ และร้านสตาร์บั๊กส์คอฟฟี่ จะเปิดให้บริการในปี 2555 และโครงการนุศาอเวนิว ถนนพระราม 2 (กม.15) ในอนาคต
สถาบันการศึกษา – ย่านถนนพระราม 2 จะมีสถานศึกษาที่มีชื่อเสียง ได้แก่ โรงเรียนอัสสัมชัญ แคมปัสพระราม 2 ส่วนโรงเรียนมัธยมศึกษา ได้แก่ โรงเรียนทวีธาภิเษก 2 ถนนบางขุนเทียน-ชายทะเล เขตบางขุนเทียน, โรงเรียนรัตนโกสินทร์สมโภชบางขุนเทียน ถนนพระราม 2 ซอย 69 ส่วนโรงเรียนใกล้เคียงถนนพระราม 2 ได้แก่ โรงเรียนศึกษานารีวิทยา, โรงเรียนมัธยมวัดสิงห์ ถนนเอกชัย และโรงเรียนบางปะกอกวิทยาคม ถนนสุขสวัสดิ์ สำหรับในเขตจังหวัดสมุทรสาคร ได้แก่ โรงเรียนสมุทรสาครบูรณะ โรงเรียนสมุทรสาครวิทยาลัย และโรงเรียนพันท้ายนรสิงห์วิทยา สำหรับสถาบันอุดมศึกษาที่อยู่ใกล้เคียง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนุรี เข้าทางถนนพุทธบูชา
โรงพยาบาล – ย่านถนนพระราม 2 ไม่มีโรงพยาบาลของรัฐ นอกจากโรงพยาบาลสมุทรสาครซึ่งอยู่ในจังหวัดสมุทรสาคร ส่วนโรงพยาบาลเอกชนบนเส้นทางถนนพระราม 2 ได้แก่ โรงพยาบาลางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล (กม.0), โรงพยาบาลบางมด, โรงพยาบาลนครธน, โรงพยาบาลพระราม 2 นอกนั้นเมื่อเข้าสู่ตัวจังหวัดสมุทรสาครจะมีโรงพยาบาลเอกชัย ถนนเอกชัย โรงพยาบาลมหาชัย และโรงพยาบาลมหาชัย 3 (ประกันสังคม) บริเวณทางเข้าเมืองสมุทรสาคร กม.28 อย่างไรก็ตาม ขณะนี้จะมีโรงพยาบาลของรัฐ สังกัดกรุงเทพมหานคร ได้แก่ โรงพยาาลบางขุนเทียน ถนนบางขุนเทียน-ชายทะเล กม.10 ในปี 2556
สถานีตำรวจ – ย่านถนนพระราม 2 ในเขตกรุงเทพมหานครจะมีพื้นที่รับผิดชอบอยู่ 3 สถานี ได้แก่ สน.บางมด ตั้งแต่ต้นถนนพระราม 2 ถึงสะพานข้ามคลองบางมด (กม.ที่ 2) , สน.ท่าข้าม ตั้งแต่สะพานข้ามคลองบางมด ถึงทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน (กม.11) และ สน.แสมดำ ตั้งแต่ทางแยกต่างระดับางขุนเทียน ถึงสุดเขตกรุงเทพมหานคร (กม.18) ส่วนเขตจังหวัดสมุทรสาครจะมีพื้นที่รับผิดชอบอยู่ 2 สถานี ได้แก่ ทิศเหนือของถนนพระราม 2 อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของ สภ.เมืองสมุทรสาคร และทิศใต้ของถนนพระราม 2 ตั้งแต่เขตจังหวัดสมุทรสาคร ถึงสะพานข้ามคลองบางน้ำจืด อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของ สภ.โคกขาม ซึ่งรวมไปถึงซอยวัดพันท้ายนรสิงห์

ผังเมืองกรุงเทพมหานคร (ซูมเฉพาะฝั่งธนบุรี)
การวางผังเมือง – จากผังเมืองฉบับเก่า ย่านถนนพระราม 2 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่ถูกจัดวางให้เป็นพื้นที่สีส้ม ซึ่งเป็นที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง ตั้งแต่ต้นถนนพระราม 2 ถึงทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน แต่จะมีพื้นที่สีม่วง ซึ่งเป็นที่ดินประเภทอุตสาหกรรมบริเวณถนนางขุนเทียน-ชายทะเล ตั้งแต่ปากทางด้านถนนพระราม 2 ถึงถนนกาญจนาภิเษกด้านทิศใต้
แต่เมื่อผ่านทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน ผังเมืองจะถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่สีเขียว ซึ่งเป็นที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม มีเจตนารมย์เพื่อรักษาพื้นที่เกษตรกรรมและเป็นแนวกันชันระหว่างพื้นที่เมือง และพื้นที่ชนบท ซึ่งโดยทั่วไปแล้วพื้นที่สีเขียว สามารถสร้างโรงงานได้ แต่มีการจำกัดประเภทโรงงานที่สามารถสร้างได้ เช่น โรงงานที่เป็นมลพิษ ส่วนโครงการหมู่บ้านจัดสรรสร้างได้เฉพาะบ้านเดี่ยวเนื้อที่ไม่เกิน 100 ตารางวา
สำหรับย่านถนนพระราม 2 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ตั้งแต่เขตจังหวัดสมุทรสาคร ซอยวัดพันท้ายนรสิงห์ ถึงสะพานข้ามทางรถไฟ ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่สีเขียว เมื่อเข้าเขตตำบลคอกกระบือ จะเป็นพื้นที่สีเหลือง สีส้ม และพื้นที่สีแดงบริเวณหมู่บ้านมหาชัยเมืองใหม่ จากนั้นบริเวณสนามกอล์ฟมาแชร์ ถึงคลองเจ็ดศอก หมู่บ้านกานดาจะเป็นพื้นที่สีเขียว ก่อนจะเป็นพื้นที่สีเหลืองถึงทางเข้าเมืองสมุทรสาคร

ผังเมืองรวมสมุทรสาคร (ซูมเฉพาะย่านถนนพระราม 2 ถึงตัวเมืองสมุทรสาคร)
โครงการก่อสร้างในอนาคต – ย่านถนนพระราม 2 มีโครงการทางด่วนดาวคะนอง-บางขุนเทียน-สมุทรสาคร ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ แนวสายทางเริ่มต้นที่จุดเชื่อมต่อทางพิเศษเฉลิมมหานครบริเวณดาวคะนองไปตาม ถนนพระรามที่ 2 จนถึงถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก (ถนนกาญจนาภิเษก) ระยะทาง 8.8 ก.ม. ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำขอบเขตงานจ้างที่ปรึกษา (TOR) ระยะเวลาศึกษา 15 เดือน งบประมาณ 30 ล้านบาท ส่วนช่วงตั้งแต่ถนนกาญจนาภิเษก ถึงจังหวัดสมุทรสาครจะอยู่ในลำดับถัดไป
อย่างไรก็ตาม การทางพิเศษแห่งประเทศไทยเตรียมนำโครงการที่เคยศึกษาไว้มาเป็นโครงการลงทุน ใหม่ หลังจากปัญหาอุทกภัยที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อเส้นทางปกติที่จะเชื่อม โยงกรุงเทพฯ ไปสู่เส้นทางภาคต่างๆ มีความเป็นไปได้จะสร้างเส้นทางจากดาวคะนอง สิ้นสุดเส้นทางที่ อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร มีระยะทาง 27.8 กิโลเมตร โดยหลังจากนี้ กทพ.จะนำโครงการดังกล่าวมาศึกษา และพิจารณาเริ่มการลงทุนอย่างจริงจัง ซึ่งจากผลการศึกษาเดิมที่ กทพ.ทำไว้ มีวงเงินลงทุนเบื้องต้น 13,700 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้าง ไม่รวมกับเงินที่จะใช้ในการเวนคืน 5,000 ล้านบาท ค่าออกแบบ 144 ล้านบาท และค่าควบคุมงานก่อสร้างอีก 344 ล้านบาท

อีกโครงการหนึ่ง คือ โครงการทางหลวงสายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครรอบที่ 3 มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 254 กิโลเมตร แบ่งแนวเส้นทางออกเป็น 3 ช่วงหลัก ประกอบด้วยแนวเส้นทางด้านตะวันออก ระยะทาง 97 กิโลเมตร เริ่มต้นที่ถนนสายเอเชีย กม. 13+790 ต.บ้านกรด อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา สิ้นสุดที่ถนนบางนา-ตราด กม.ที่ 23+850 ฝั่งตะวันตกของชุมชน อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ ช่วงดังกล่าวกำลังพิจารณาสร้างคลองผันน้ำเจ้าพระยา อยุธยา-อ่าวไทย ขนานไปกับทางหลวงพิเศษ
ต่อจากนั้นจะเป็นแนวเส้นทางด้านใต้ ระยะทาง 59 กิโลเมตร สิ้นสุดที่ถนนพระราม 2 กม. 23+200 ต.อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร และต่อด้วยแนวเส้นทางด้านตะวันตก ระยะทาง 98 กิโลเมตร สิ้นสุดบริเวณถนนสายเอเซีย กม.13+790 ทั้งนี้ ในส่วนของแนวเส้นทางที่พาดผ่านในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร จากการที่กรมทางหลวงได้ว่าจ้างบริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์แมเนจเมนท์ จำกัด ศึกษาแนวเส้นทางที่เป็นไปได้เมื่อปี 2551 ที่ผ่านมา พบว่าได้พาดผ่านพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและพื้นที่นาเกลือของ ต.พันท้ายนรสิงห์ อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร
จากนั้นปรับแนวอ้อมด้านใต้ ของนิคมอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์สินสาคร โดยตัดผ่านพื้นที่ของหมู่บ้านสารินซิตี้ ทางด้านเหนือของ ต.โคกขาม ก่อนข้ามทางรถไฟสายแม่กลอง แล้วอ้อมผ่านด้านล่าง ICD ของบริษัท เอกชัยคอนเทนเนอร์ฯ แล้วข้ามถนนเอกชัย ไปสิ้นสุดเส้นทาง ที่ถนนพระราม 2 ต.นาดี เชื่อมต่อแนวด้านตะวันตก มุ่งขึ้นเหนือขนานไปกับถนนเศรษฐกิจ ทางด้านตะวันออกตัดผ่านถนนพุทธสาคร ขนานไปกับแนวพื้นที่ฝั่งตะวันออกของเขตพื้นที่ทหาร ก่อนเข้าสู่ ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน ตัดผ่านถนนเพชรเกษม ระหว่าง ต.อ้อมน้อย กับเขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร

6 ความคิดเห็น เรื่อง “เจาะลึกทำเลถนนพระราม 2”

  1. ต่างหู กล่าวว่า:

    ม.ค. 16, 12 at 4:01 am กำลังจะเล็งจะไปอยู่แถวนั้นพอดี ขอบคุณข้อมูลมากๆ
  2. Jit กล่าวว่า:

    มิ.ย. 17, 12 at 1:20 pm คือว่า อยากทราบเบอร์โทรศัพท์ของรถตู้ อนุสาวรีย์ พระราม2 ค้ะ พอดีกระเป๋าตังค์หายอ่ะคะ มีเอกสารสำคัญมากมายเลยคะ ทั้ง ATM บัตรประชาชน บัตรประกันสังคม เงินจำนวน 500 บาท ลักษณะกระเป๋า ใบเล็กสีน้ำตาลเข้ม
  3. คมสันต์ กล่าวว่า:

    ก.พ. 12, 13 at 4:05 am อยากจะขายที่ดินใกล้วัดศาลาแดงบางไผ่ ถนน บางแวก ติดคลองบางเชือกหนังฝั่งใต้ 14ไร่3งาน ขายต่ำกว่าราคาประเมิน(มีพื้นที่ข้างเคียงอีกประมาณ10ไร่ ขายไร่ละ 3ล้านบาท รวมแลัวประมาณ 24ไร่ เหมาะทำโครงการจัดสรร หรือใว้เก็งกำไร) มีใครสนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ 081-9515223คมสันต์
  4. อ้น กล่าวว่า:

    ก.ค. 07, 13 at 5:28 pm ดีครับ คนใช้ถนนพระราม2 น่าสงสารมาก ผมอยู่แถวนี้มา35 ปี คนอยู่เยอะมาก รถติดมากๆๆ ถนนแย่มากๆๆ การดูแลถนนเส้นพระราม2 ซึ่งเป็นถนนสายหลักวิ่งลงภาคใต้ ผม คิดว่าแย่มาก ผมหวังว่าคนที่มีส่วนร่วมในการทำโครงการต่างๆๆ น่าจะหันมามองและจิงจังกับการแก้ปัญหาการเดินรถในถนนพระราม2 อย่างจิงจังและจับต้องได้
  5. .... กล่าวว่า:

    ก.ย. 16, 13 at 4:35 pm น่าจะมีรถไฟฟ้าไม่ก็ใต้ดินได้แล้ว เพราะรถติดทุกเวลาเลย ไม่สะดวกเวลาเดินทาง
  6. กิตติ กล่าวว่า:

    เม.ย. 27, 14 at 4:25 am แปลกใจมาหลายปีแล้วว่า..
    ทำไมเลือกทำเป็นถนนยางมะตอย แต่ไม่ทำเป็นถนนคอนกรีตที่แข็งแรง??
    ทั้งๆ ที่ ..
    1. เป็นถนนเศรษฐกิจหลัก (สำหรับเดินทางลงภาคใต้, ผ่านพื้นที่เศรษฐกิจ แหล่งอาหารทะล ต้องมีการขนส่งด้วยรถบรรทุกมากมาย ฯลฯ)
    2. เป็นถนนที่มีรถบรรทุกขนาดใหญ่ ตู้คอนเทนเนอร์ วิ่งตลอดเวลา
    3. พื้นยางมะตอยของถนนพระราม2 เมื่อฝนตก เกิดอุบัติเหตุทุกครั้ง จากการตกข้างทาง
    4. ถนนยางมะตอยอายุการใช้งานสั้นมาก (เห็นได้จากการซ่อมแซมถนนพระราม 2 บ่อยมาก แต่ทำแค่การเอายางมะตอยมาปะๆ ถนนก็ไม่เรียบอยู่ดี)
    ผู้เกี่ยวข้อง โปรดพิจารณาด้วยครับ

1 ความคิดเห็น:

  1. เรา สนใจจะสร้างอาคารสูง เทคโนโลยี่แบบจีน มาสร้างที่เขาค้อในพื้นที่เหมาะสมอาคารที่เหมาะสม อาคารที่รับรูปแบบธรรมชาติ ที่เขาค้อ ล้อเรียนแบบจีนทั้งหมด ยึดนโยบาย เหมาเจอตุง เขตเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ที่ส่งเสริมการท่องเที่ยว อีกโครงการ ผมคิดว่า ชื่อ โครงการ ผาเมืองวัลเล่ย์ เขาค้อ (ขุนเขาผาเมือง) ของแท้ที่ ผมคิดว่า อดีด ผกค.รุ่นเก่าและนักอุดมการณ์รุ่นเก่าๆ ตลอดจน นักจิตวิทยา-นักธุรกิจคนรุ่นใหม่ น่าจะสนใจ ตึกสูงๆงามๆแบบจีนแดงสัก สิบหลังใจกลางขุนเขา ผาเมือง นึกถึงบรรยากาศเก่า ที่บัญชาการรบ...สนับสนุนการรบ..สอนการทหาร..ตลอดจน ญาติผู้เสียชีวิตที่มีมากถึง 2000 คน น่าจะมาพักผ่อน ตากอากาศที่ ตึกสู่งๆนี้ น่าสนใจ เอบเทคนิคการก่อสร้างจีนแดงมาเลย คงสวยดี ผมเสนอโครงการ อาคารชุด ยุค AEC ให้คนรุ่นใหม่และเก่า ได้รับลมหนาวเย็นๆ เชิญชม โปรเจค และผลงานน่ะครับ บริหารการจัดการ โดย D-HOUSE GROUP THAILAND นักวิจัยธุรกิจ อิสระ ที่มีผลงาน ระดับ หมื่นล้าน

    ตอบลบ